น้ำเป็นสิ่งที่เราทุกคนไม่สามารถขาดได้ เพราะจำเป็นต่อกระบวนการต่าง ๆ ในร่างกาย การได้รับน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย จะส่งผลเสียต่อร่างกายในหลายด้าน ในขณะเดียวกันก็มีการศึกษาวิจัยมากมายเกี่ยวกับปริมาณของน้ำที่ดื่มในแต่ละวันที่มีผลต่อสุขภาพ หนึ่งในนั้นคือ สามารถช่วยในการควบคุมหรือลดน้ำหนักได้อีกด้วย ? ลองมาดูกันค่ะ
มีการศึกษาหนึ่งจากวารสารทางวิชาการ Human Nutrition and Dietetics ของเดือนกุมภาพันธ์ 2016 ได้รายงานผลเกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภคอาหารของคนทั่วไปกว่า 18,000 คนพบว่า ผู้ที่เลือกดื่มน้ำเปล่านั้น จะมีสามารถลดการบริโภคพลังงานรวมทั้งวันได้ รวมทั้งบริโภคไขมันอิ่มตัว น้ำตาล โซเดียมและคอเลสเตอรอลในอาหารต่ำกว่าอีกต่างหาก ปกติแล้วคนทั่วไปจะดื่มน้ำเปล่าเฉลี่ยวันละ 960 – 1,000 มิลลิลิตรซึ่งคิดเป็น 30% ของปริมาณของน้ำและของเหลวที่ได้รับต่อวัน หากนับรวมเครื่องดื่มชนิดอื่น ๆ เช่น ชา กาแฟ น้ำผลไม้และน้ำในอาหารแล้ว
จากการศึกษาข้างต้นมีผลการศึกษาว่า ผู้ที่เข้าร่วมการศึกษาได้รับพลังงานเฉลี่ย 2,157 kcal ต่อวันและคิดเป็นพลังงานจากเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล 125 kcal เป็นพลังงานที่มาจากของหวาน ขนม เบเกอรี่และของว่างประมาณ 432 kcal แต่ในผู้ที่ดื่มน้ำเปล่ามากกว่าเฉลี่ยวันละ 240 – 720 มิลลิลิตร (หรือ1-3 ถ้วยตวง) จะมีการบริโภคพลังงานลดลงถึง 68-205 kcal ต่อวัน และยังลดการบริโภคโซเดียมได้ถึง 78-235 มิลลิกรัมต่อวัน และยังมีการบริโภคน้ำตาลลดลงวันละ 5-16 กรัมต่อวัน (คิดเป็น 1-4 ช้อนชาต่อวัน)
ความสัมพันธ์ดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร ? ผู้เชี่ยวชาญได้อธิบายไว้ว่าการบริโภคน้ำเปล่าที่เพิ่มขึ้นสามารถลดความหิว เพิ่มความอิ่มและความพึงพอใจในการรับประทานอาหารได้ ทำให้ลดโอกาสที่จะบริโภคเกินความต้องการของร่างกายลง รวมทั้งลดการบริโภคน้ำหวาน ขนมและอาหารที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบลงได้อย่างมีนัยสำคัญค่ะ
ถ้าให้แนะนำอย่างง่ายคือ อยากให้ทุกคนลองเริ่มต้นดื่มน้ำเปล่ามากขึ้น จะแบบเย็น อุณหภูมิห้องหรืออุ่นก็ได้ทั้งนั้นค่ะ จากคำแนะนำที่ให้ดื่มวันละ 6-8 แก้วนั้นอาจจะกะเวลาได้ยาก แนะนำว่าลองดื่มน้ำเปล่าสะอาดครั้งละ 1 แก้วทุกครั้งหลังไปห้องน้ำ ตื่นนอนตอนเช้าและก่อนรับประทานอาหารมื้อหลักทุกมื้อดู น่าจะเป็นการเริ่มต้นที่ง่ายสำหรับหลายคนค่ะ
อ้างอิง
- An & J. McCaffrey. Plain water consumption in relation to energy intake and diet quality among US adults, 2005-2012. J of Human Nutrition and Dietetics. 22 Feb 2016